ย้อนอ่านวิวาทะจำนำข้าว


เมื่อปีกว่าๆ มานี้เอง ไม่นานเลย นักวิชาการรุ่นใหญ่สายอำมาตย์กับสายไพร่ดีเบทในเรื่องจำนำข้าว (แต่ พ.ศ.นี้ต้องพูดว่านักวิชาการกรุงเทพฯ กับนักวิชาการต่างจังหวัดสินะ – แต่ดูเหมือนปลุกไม่ขึ้นเลย) ตัดเก็บไว้อ่านแบบละเอียดอีกครั้ง:

ลองย้อนอ่านคร่าวๆ ก็ต้องสะดุดในประเด็นเรื่องแรงงานภาคเกษตร:

"เป็นไปได้หรือไม่ว่า หากเขามีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืนในระยะยาวแล้ว ชาวนาจะหันไปทำอาชีพอื่นๆ มากกว่าทำนา เพราะราคาจำนำ 15,000 บาทต่อข้าวหนึ่งตันนั้น ใช่ว่าจะทำให้รายได้เพิ่มสูงขึ้นมากนัก หากเปรียบกับการมีงานจ้างประจำทั้งปี หรือมีโอกาสค้าขายอย่างเป็นกอบเป็นกำมากขึ้น โครงการรับจำนำข้าวจึงอาจเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่จะทำให้ชาวนาจำนวนหนึ่งหันไปสู่อาชีพอื่น ในขณะที่ผู้ยังอยู่ในอาชีพทำนา ก็จะมีโอกาสพัฒนาผลิตภาพของตนเพื่อให้ได้กำไรมากขึ้น"
– นิธิ เอียวศรีวงศ์ : เปลี่ยนประเทศไทย ด้วยการรับจำนำข้าว (กระแสทรรศน์ มติชน 5 พ.ย. 2555) –

"แต่เราขอตั้งข้อสงสัยกับความเห็นที่ว่าอาจเป็นไปได้ที่ชาวนาจะนำเงินขายข้าวในราคาจำนำ 15,000 บาทไปทำอาชีพอื่นๆมากกว่าการทำนา
ตรงกันข้าม การกำหนดราคาจำนำข้าว 15,000 บาท กำลังดึงดูดแรงงานที่อยู่นอกภาคเกษตรให้กลับเข้ามาทำนา รวมทั้งการเปลี่ยนพื้นที่เกษตรที่ใช้ปลูกพืชชนิดอื่น มาปลูกข้าวแทนเพราะปลูกข้าวได้รายรับมากกว่า ถ้าเช่นนั้นเงินสงเคราะห์ชาวนาก็จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย"
– เปลี่ยนประเทศไทยด้วยการรับจำนำข้าว: ข้อเท็จจริงสำหรับ อ.นิธิ และประชาชน โดย นิพนธ์ พัวพงศกรและอัมมาร สยามวาลา –

ใครจะถูกใครจะผิดไม่ทราบ แต่เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อนที่อยู่ในธุรกิจร้านอาหารเปรยให้ฟังว่า ลูกจ้างเด็กเสิร์ฟของตัวเองเวลานี้กลับบ้านไปทำนาหมด เพราะนโยบายรับจำนำข้าว จ้างที่เคยจ้างคนไทยเป็นหลัก ต้องหันมาจ้างคนต่างด้าวแทน

ใส่ความเห็น