บรรดาเราเหล่านักเรียน… และบรรดาท่านผู้ปกครอง…


osk1
เมื่อปลายมกราคมที่เพิ่งผ่านมา เกิดวิวาทะร้อนในสังคมศิษย์เก่าสวนกุหลาบ จนเฉียดฉิวกับอาการ “คลั่งสถาบัน” กันทีเดียว

ความพิเศษในปรากฎการณ์ครั้งนี้ก็คือความพร้อมใจ สังคมศิษย์เก่าสวนกุหลาบนั้นไม่ต่างไปจากสังคมอื่น ต่างมีความคิดทางการเมืองที่แตกแยกจากกัน มีทั้งอำมาตย์-ไพร่ มีทั้งเหลือง-แดง เป็นเรื่องปกติร่วมยุคร่วมสมัย แต่ในวิวาทะว่าด้วย “งานจากเหย้า ม.๓” ซึ่งดำริเริ่มด้วยกลุ่ม “เครือข่ายผู้ปกครอง” ของเด็กนักเรียน ม.๓ ปีนี้ กลับสร้างความสมานฉันท์ให้เหล่าศิษย์เก่าอย่างไม่แบ่งค่ายแบ่งสี ร่วมกันถล่ม “ผู้ปกครอง” ที่บังอาจทำลายประเพณีดีงาม ที่สืบทอดจนเป็นจารีตประเพณีไปแล้ว ว่างานจากเหย้าของโรงเรียน ต้องจัดให้กับนักเรียนที่กำลังจะจบชั้นสูงสุดหรือปีการศึกษาสุดท้าย คือ ม.๖ เท่านั้น

ศิษย์เก่าย้ำว่าที่ต้องแสดงพลังคัดค้านงานของเครือข่ายผู้ปกครอง ก็เพราะเหล่าผู้ปกครอง “ล้ำเส้น” เข้ามายุ่มย่ามวุ่นวายกับชีวิตของลูกตัวเอง ในฐานะเด็กนักเรียนสวนกุหลาบมากเกินไป กิจกรรมภายในโรงเรียนก็ควรให้เด็ก ม.๓ หรืออาจารย์เป็นคนคิดตัดสินใจเอง แต่ในวันนี้ เครือข่ายผู้ปกครองมีบทบาทและสำแดงอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ เท่าที่ทราบจากงานฟุตบอลจตุรมิตรครั้งล่าสุด โรงเรียนกำหนดห้องเรียนที่จะขึ้นอัฒจันทร์เชียร์และแปรอักษรไว้เรียบร้อยแล้ว แต่กลุ่มผู้ปกครองที่ไม่อยากให้ลูกขึ้นแสตนด์ สามารถกดดันให้เปลี่ยนห้องได้

ความพร้อมใจที่เกิดขึ้นของบรรดาศิษย์เก่า อาจเป็นเพราะปัญหานี้กระทบกระเทือนต่อ “ความเป็นสถาบัน” ของโรงเรียนสวนกุหลาบนั่นเอง เพราะกฎหรือจารีตต่างๆ ของสถาบันกำลังโดนทำลาย และสถาบันที่ว่านั้นหาใช่เพียงสถาบันการศึกษา แต่ยังเป็น “สถาบันของผู้ชาย”

การศึกษาในระบบโรงเรียนในแบบการศึกษาเพื่อมวลชนซึ่งบ้านเรารับมาจากประเทศเจ้าอาณานิคม สถาปนาบนสมมติฐานว่า บ้านไม่ใช่สถานที่ที่เหมาะสำหรับเด็กผู้ชายสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะในช่วงวัยกำลังเติบโต การทิ้งเด็กชายให้จับเจ่าอยู่กับบ้านตลอดวันตลอดคืน จะทำให้เขาเติบโตเป็นผู้ชายที่อ่อนแอ ไร้ความเป็นผู้นำ เพราะที่บ้านมีผู้ปกครองโดยเฉพาะแม่ (ผู้หญิง) คอยเอาอกเอาใจ การแยกเด็กชายช่วงกำลังเติบโตมาไว้นอกบ้าน จับมาไว้ในโรงเรียนเสียบ้าง จำเป็นสำหรับการสร้างเด็กชายให้กลายเป็น “ลูกผู้ชาย” ซึ่งในสักวันข้างหน้า บางคนอาจเติบโตกลายไปเป็นผู้ปกครองหรือเจ้าหน้าที่ประจำประเทศราชสักแห่งบนพื้นโลกไกลโพ้น ห่างไกลจากบ้านเกิดและครอบครัวของตัวเอง ขั้นสูงสุดของระบบการศึกษาแบบนี้ก็คือระบบโรงเรียนประจำนั่นเอง

แม้แต่ “ลูกเสือ” ของ Robert Baden Powell ก็เช่นกัน เขาตั้งใจพาเด็กชายออกมาจากบ้าน มาเรียนรู้ชีวิตกลางแจ้ง กินนอนในป่า หุงหากินเอง ตัดขาดจากแม่หรือคนใช้เสียบ้าง จะได้มีน้ำอดน้ำทน เป็นลูกผู้ชายเต็มตัว

ในระบบโรงเรียนแบบนี้ เด็กชายจะมิได้รับแค่ “วิชาความรู้” แต่ยังช่วยกล่อมเกลาสร้าง “ระเบียบวินัย” รวมทั้งการฝึกฝนตัวเองที่จะใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นๆ ที่อยู่ต่างบ้านกับตัวเอง เพื่อรอเวลาเติบโตเป็นผู้นำหรือเป็นผู้ปกครอง

ด้วยเหตุนี้การศึกษาในโรงเรียนแบบสมัยใหม่ จึงตี “เส้นแบ่ง” ระหว่างบ้านกับโรงเรียนจึงมีความชัดเจน คล้ายเส้นพรมแดนบนแผนที่โลก อาจกล่าวได้อีกนัยยะว่า เส้นแบ่งเส้นนี้ขีดแบ่งการดูแลเด็กตาม “สัญชาตญาณ” กับตาม “หลักวิชา” ออกจากกัน เมื่อเส้นแบ่งที่เคยชัด กำลังถูกลบให้เลือนลางลงด้วยฝีมือบรรดาผู้ปกครอง บรรดาศิษย์เก่าที่เติบโตมากับสถาบันของผู้ชายที่ไหนจะยอม

(ภาพประกอบจากศิษย์เก่าท่านหนึ่ง)

ใส่ความเห็น