ขออีกทีกับ ‘ระบบทักษิโณมิกส์’ – แฟ้มข่าว


DSC_1704

เรื่องทักษิโณมิกส์นี่ฮิตฮอตมาก จึงถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงกันบ่อยครั้ง อย่างล่าสุด เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานสัมมนาเรื่อง ‘Thaksinomics’ โดยมีผู้ร่วมสัมมนาเป็นขาใหญ่แห่งวงวิชาการเมืองไทย 3 ท่านคือ อาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์, ดร.สุวินัย ภรณวลัย จากคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ และอาจารย์เกษียร เตชะพีระ จากคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์

อ.รังสรรค์ กล่าวว่าระบบทักษิโณมิกส์เป็นระบบที่ไม่ผลิตองค์ความรู้ใหม่ และเป็นระบบเศรษฐศาสตร์ ‘ของคุณทักษิณ โดยคุณทักษิณ เพื่อคุณทักษิณ’ โดยสาระสำคัญของระบบนั้นมีเป้าหมายในการจัดการ 2 ประการคือ เป้าหมายเพื่อที่จะได้รับการเลือกตั้งมากที่สุด และเป้าหมายเพื่อการแสวงหาให้ได้ผลประโยชน์ส่วนบุคคลที่สูงที่สุด

อ.รังสรรค์ยังแสดงมายาคติ 10 ประการของระบบคือ 1.เป็นระบบที่มีการโฆษณาชวนเชื่อว่าเป็นระบบที่มีการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ 2.นายกฯ วิจารณ์การพัฒนาระบบเศรษฐกิจเอเชียบูรพา แต่ก็ใช้เศรษฐกิจแบบนี้ในการดำเนินนโยบาย 3.การดำเนินนโยบายที่ให้ความสำคัญต่อเสถียรภาพน้อย 4.ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจชาตินิยมเฉพาะตอนต้นเพราะต้องการคะแนนเสียง แต่ตอนหลังก็เป็นเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมเพราะต้องการประโยชน์ส่วนบุคคลและพวกพ้อง

5.จะเห็นว่าให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจภายในแต่จริงๆ แล้วเป็นไปเพื่อส่งเสริมการส่งออก 6.มีการพึ่งพาการส่งออกมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในอนาคต 7.ยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบทวิวิถีขัดกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 8.ระบบนี้ไม่มีหลักประกันว่าจะไม่พึ่งไอเอ็มเอฟอีกในอนาคต 9.ไม่มีหลักประกันว่าจะไม่นำไปสู่วิกฤติอีก 10.มายาคติที่ว่าไม่มีอะไรดีเลยในระบบทักษิณนั้น ในความจริงคือเป็นระบบที่มีจุดเด่นในการวางกรอบความคิดและนำไปดำเนินนโยบาย แต่ในที่สุดก็นำไปสู่ต้นทุนส่วนเพิ่มที่มากกว่ารายได้ส่วนเพิ่ม

ด้าน อ.เกษียร กล่าวว่ารัฐบาลมีที่มาจากการเลือกตั้ง ทำให้ต้องมีนโยบายเอื้ออาทรหรือประชานิยมขึ้นมา เพื่อให้สามารถผูกขาดอำนาจได้โดยผ่านการคุมสื่อ ซึ่งทำให้ระบบทักษิณใหญ่โตขึ้นมา ทั้งยังเป็นรัฐบาลที่กุมอำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์ คือมีอำนาจมากกว่าที่รัฐธรรมนูญอนุญาตให้มี และนโยบายบางอย่างยังเป็นการใช้อำนาจเด็ดขาดที่พร้อมจะละเมิดอำนาจทรัพย์สินของคน เป็นนโยบายที่ทั้งเอื้ออาทรและตัดตอนสำหรับคนที่ไม่ยอมรับ

ส่วน อ.สุวินัย กล่าวว่าระบบทักษิณเป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้มีอำนาจกับบริวาร โดยเป็นระบบที่มีการกีดกันทางการเมืองสูงมากและมีการลดคุณค่าความเป็นสมาชิกของคนอื่น และมองว่าเป็นการสืบทอดอำนาจนิยม

……………………………………………………………………………………
a day weekly, 27 สิงหาคม – 2 กันยายน 2547, ปีที่ 1 ฉบับที่ 15, หน้า 10.

ใส่ความเห็น